สถานที่สำคัญตำบลสำเภาล่ม
มัสยิดอิสลามเดิมชื่อ “มัสยิดคลองพูจาม” ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า มัสยิดบ้านในคลอง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ใดไม่ปรากฏแน่ชัด ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสุสานประจำตำบลในปัจจุบัน (ในพื้นที่ ม.๗ ตำบลสำเภาล่ม) สภาพของมัสยิด เป็นเรือนไทยโบราณปลูกติดกัน ๔ หลัง ประกอบด้วยหลังแรกใช้เป็นที่ทำการละหมาด สองหลังต่อมาเป็นหอเลี้ยงและหอกลาง อีกหลังหนึ่งเป็นโรงครัว อิหม่ามท่านแรกที่จำความได้คือ ฮัจยีมุดขันธ (ข้อมูล : จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในพื้นที่)

มัสยิดหลังนี้สร้างเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ในพิธีเปิดอาคารมัสยิด จุฬาราชมนตรี อัจยีต่วน สุวรรณสาส์น ได้เดินทางมาเปิดและตั้งชื่อว่า “มัสยิดอายาตุ้ลอิสลาม” หรือ “มัสยิดอิสลามวัฒนา” ราวปี พ.ศ. ๒๕๑๐ โรงเลี้ยงและหอกลางชำรุดและทรุดโทรมมาก ไม้และเสาซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากมัสยิดหลังเดิมผุกร่อน จึงทำการรื้อและก่อสร้างใหม่อีกครั้ง ราวปี พ.ศ. ๒๕๑๘ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของมัสยิดอีกครั้ง มีการก่อสร้างมัสยิดหลังใหม่ ก็คือ มัสยิดหลังปัจจุบัน
จนกระทั่งราวปี พ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๓๓ จึงทำการรื้อมัสยิดหลังเก่าอาคารโรงเลี้ยงยังไม่รื้อ ราวปี พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงทำการรื้ออาคารโรงเลี้ยง เพื่อนำไม้และวัสดุที่ยังพอใช้ได้มาก่อสร้าง “อาคารศูนย์อบรมจริยธรรมอิสลามวัฒนา” ผู้ดำรงตำแหน่งอิหม่ามปัจจุบันคือ “อิหม่ามอัจยีอิสมาแอน เจ๊ะโอ๊ะ”
๒. คลองคูจาม
ที่ปากคลองคูจามแห่งนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นตลาดน้ำที่ใหญ่แห่งหนึ่งเรียกว่าตลาดน้ำปากคลองคูจาม มีเรือสินค้าขนาดใหญ่ของภาคตะวันออกกลาง ชาวต่างชาติ จอดมากมายและเป็นท่าเก็บภาษีสินค้าเข้า – ออก ตามประวัติศาสตร์เล่าว่าราวปลายสมัยรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.๒๔๑๕) มีพ่อค้าชาวเปอร์เซีย พี่น้อง ๒ คน คนพี่ชื่อว่าเฉกอะหมัด คำว่า “เฉก” แผลงมาจากคำอาหรับว่า “ซี้ค” หมายถึงหัวหน้าชุมชน หรือแม่ทัพ คนน้องชื่อว่า มะหะหมัดสะอิด ทั้งสองคนเดินทางเข้ามาค้าขายอยู่ที่ตำบลกายี ใกล้พระนครศรีอยุธยา มีผู้คนรู้จักกว้างขวาง การค้าได้ผลดีจนได้รับกล่าวขานว่าเป็นเศรษฐีใหญ่ ผู้พี่ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อเชย มีบุตร ๓ คน ชื่อ ชื่น ชม และชี ส่วนผู้น้องมะหะหมัดสะอิดนั้นได้เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน และไม่ได้กลับมาอีก เฉกอะหมัดดำเนินธุรกิจ เจริญรุ่งเรือง ทำให้ได้รู้จักขุนนางชั้นผู้ใหญ่ และได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศของเจ้าพระยาพระคลัง
ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเฉกอะหมัดได้รับปูนบำเหน็จความดีความชอบโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น พระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี มีตำแหน่งกรมเจ้าท่าขวา ว่าที่จุฬาราชมนตรี (หนังสือกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยมุสลิม อธิบายว่าเหมือนกระทรวงการต่างประเทศและกรมศุลกากร คือมีหน้าที่ต้อนรับแขกบ้านเมือง และจัดเก็บภาษี) ในรัชกาลเดียวกัน ได้มีชาวญี่ปุ่นราว ๕๐๐ คน ได้ก่อความไม่สงบพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี ได้รวบรวมชาวไทยและชาวมุสลิม ช่วยกันปราบปรามจนสำเร็จ พระเจ้าทรงธรรม โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี สมุหนายกอัครเสนาบดีฝ่ายใต้ ท่านพระยาเฉกอะหมัด ได้รับใช้บ้านเมืองด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จนกระทั่งรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง จึงได้รับพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนดำรงตำแหน่งขึ้นเป็น เจ้าพระยาบวราชนายกจางวางมหาดไทย มีหน้าที่ให้คำปรึกษาราชการแผ่นดินท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่ออายุ ๘๘ ปี ศพท่านได้ถูกนำมาฝังไว้ที่ตำบลท้ายคู ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จึงนับได้ว่าท่านเป็นพระยาจุฬาราชมนตรีคนแรกของประเทศไทย
๓. วัดบางกะจะ
วัดบางกะจะ ชาวบ้านมักเรียกว่า “วัดใหม่บางกะจะ” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๐ และได้รับสุงคาเสมา ประมาณ พ.ศ. ๒๒๑๐ ตั้งอยู่เลขที่ ๓๖/๔ บ้านบางกะจะ หมู่ที่ ๔ ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ตั้งทิศเหนือติดต่อกับทางสาธารณะ ทิตใต้ติดต่อกับ โรงเรียนพรพินิตพิทยาคาร ทิศตะวันตกติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก (เป็นสามแยกตรงข้ามกับวัดพนัญเชิง และป้อมเพชร) ส่วนทิศตะวัดตกติดกับทางสาธารณะพื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก (เดิมเรียกว่าแหลมท้ายบางกะจะ) มีปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ เจดีย์ใหญ่ฐาน ทรงเหลี่ยมซึ่งสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาและทำการบูรณะขึ้นเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว พระพุทธรูปใหญ่ชาวบ้านเรียกว่า “พระพุทธเศวตมงคล (หลวงพ่อขาว)
![]() |
สร้างด้วยปูนปั้นสมัยกรุงศรีอยุธยามีหน้าตักกว้าง ๑๒๐ นิ้ว ยาว ๑๕๐ นิ้วประดิษฐานบริเวณเขตพุทธาวาส พระประธานในอุโบสถเป็นปูนปั้นและ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรสร้างด้วยไม้มีพระพุทธรูปสององค์ (ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อสองพี่น้อง) บนศาลาการเปรียญสร้างด้วยหินกำแพงรอบเขตพุทธาวาส ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนขาว (สภาพเดิมยังไม่ได้บูรณะ)
๔. วัดพุทไธศวรรย์
พระเจ้าอู่ทองได้อพยพผู้คนหลบหนีโรคห่า (อหิวาตกโรค) มายังที่ ต.เวียงเล็ก แห่งนี้แล้วได้สร้างพระตำหนักเวียงเหล็กที่ประทับชั่วคราวนี้ขึ้น ในระหว่างนั้นได้ให้ช้างทรงพระที่นั่งสำรวจพื้นที่ไปทางด้านเหนือของพระตำหนักแล้วอธิษฐานว่า ถ้าช้างพระที่นั่งไปหยุด ณ ที่ใด ก็จะสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ ณ ที่นั่น ช้างพระที่นั่งได้ไปหยุดอยู่ ณ บริเวณบึงพระรามในปัจจุบันนี้ พระองค์จึงได้ทรงเริ่มสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ ณ ที่นั่นจนสำเร็จลุล่วงด้วยดี โดยใช้เวลาก่อสร้าง ๙ ปี หลังจากนั้นจึงได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และเสด็จขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์พระองค์แรกของกรุงศรีอยุธยา
![]() |
![]() |
หลังจากนั้นอีก ๓ ปี พระองค์ได้ถวายพระตำหนักเวียงเหล็กให้เป็นวัดชื่อว่า“วัดพุทไธศวรรย์” เมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๑๘๙๖ โดยมีขุนพลอัครเดชเป็นปฐมเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเรื่อยมา ปัจจุบันภายในวัดยังมีโบราณสถานเหลืออยู่เป็นจำนวนมากเช่น ปรางค์ประธาน ระเบียงคด และตำหนักพระพุทธฆาจารย์ปรางค์ประธานได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ด้านหน้าของมุขปรางค์นั้นเดิมมีพระรูปพระเจ้าอู่ทองตั้งอยู่ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๒๗ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเทพพลภักดิ์ ซึ่งบัญชาการกรมพระคชบาลเสด็จออกไปชมเพนียดทรงพบเข้า จึงกราบทูลมายังสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์จึงโปรดให้เชิญเทวรูปนั้นลงมากรุงเทพฯ แล้วโปรดให้หล่อดัดแปลงใหม่เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องหุ้มเงินทั้งองค์ และโปรดให้ประดิษฐานไว้ ณ หอพระเทพบิดร ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปัจจุบัน ส่วนผนังภายในตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ มีภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยาเรื่องทศชาติชาดก และเรื่องสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ไปนมัสการพระพุทธบาทที่ลังกาทวีป อันเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่ทรงคุณค่ายิ่งแห่งหนึ่งในปัจจุบัน
๖. โบราณสถานวัดนางกุย
วัดตั้งอยู่เลขที่ ๓๐ หมู่ที่ ๕ ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๐ ผู้สร้างชื่อ”นางกุย” เป็นผู้มีทรัพย์เงินทอง จึงไดสร้างวัดขึ้นริมแม่น้ำเจ้าพระยา สมัยก่อนวัดนางกุยเป็นวัดที่มีความรุ่งเรืองมาก ดูจากหลักฐานที่มี เช่น พระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๖ ต่อมาหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ วัดนางกุยได้ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรม จนมาถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ในพระนครศรีอยุธยา วัดนางกุยเป็นอีกวัดหนึ่งได้รับกาบูรณปฏิสังขรณ์ เช่น หน้าอุโบสถ หน้าบัน มีรูปนารายณ์ทรงครุฑ และรอบอุโบสถยังมี เสมาคู่ รวมทั้งเจดีย์ และพระปรางค์ สันนิษฐานได้ว่าเคยเป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งในกรุงศรีอยุธยา
๗. วัดขุนพรห
วัดขุนพรหม ตั้งอยู่เลขที่ ๓๐ บ้านขุนพรหม หมู่ที่ ๕ ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สังกัดคณะสงฆ์นิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๒๔ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๑๑๘๗๓ อาณาเขต ทิศเหนือติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา อีกสามด้านติดต่อกับที่ดินของเอกชน
![]() |
พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารอาสนะต่าง ๆ มี อุโบสถ กว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๕ เมตร มีสภาพทรุดโทรม ศาลาการเปรียญกว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๕ เมตร บูรณะ พ.ศ. ๒๔๙๘ หอสวดมนต์ กว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๐ เมตร สร้าง พ.ศ. ๒๕๒๓ กุฏีสงฆ์จำนวน ๔ หลัง และศาลาท่าน้ำ ๑ หลัง สำหรับปูชนียวัตถุ พระประธานในอุโบสถ ๒ องค์ ปางมารวิชัย และมีเจดีย์ ๑ องค์ อยู่ด้านหลังอุโบสถวัดขุนพรหม สร้างขึ้นเป็นวัดที่นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ประมาณ พ.ศ. ๒๑๐๐ และถือได้ว่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้วประมาณ พ.ศ. ๒๑๒๐ เป็นการกำหนดระยะปีไว้เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้า
องค์การบริหารส่วนตำบลสำเภาล่ม
ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โทรศัพท์ : ๐-๓๕๗๐-๑๒๑๖ แฟ็กช ๐-๓๕๗๐-๑๕๗๑